“ซอด้วง” เป็นเครื่องดนตรีชนิดสายที่ถูกนำไปใช้ในวง “มโหรี” รับหน้าที่เป็นเครื่องดนตรีนำของวง เพราะมีเสียงที่ดังและไพเราะ ลักษณะของเครื่องดนตรีชนิดนี้ประกอบด้วยสาย 2 เส้น ที่ให้เสียงดังก้องกังวาน มีความยาวประมาณ 72 เซนติเมตร คันชักที่ใช้สำหรับสียาวประมาณ 68 เซนติเมตร ทำขึ้นจากขนหางม้าจำนวนมาก ในส่วนด้านล่างมีกะโหลกที่มักใช้ไม้ทำ ในอดีตนิยมใช้ไม้ไผ่ซึ่งหาได้ง่าย หรือไม่ก็ใช้งาช้าง เสียงของเครื่องดนตรีชนิดนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ทำกะโหลก ถ้าจะให้เสียงออกมาดีจะต้องใช้ไม้เนื้อแข็งมาทำ และขึงด้วยหนังงู
เมื่อนำทั้งสองอย่างนี้มารวมกันจะได้ซอที่มีเสียงไพเราะเสนาะหูชวนฟังเป็นอย่างมาก ชื่อของเครื่องดนตรีชนิดนี้มาตั้งชื่อตามลักษณะที่คล้ายกับเครื่องดักสัตว์ แถมยังทำมาจากวัสดุเดียวกันคือไม้ไผ่ จึงทำให้ได้ชื่อเป็นซอด้วง นอกจากนี้ยังมีความคล้ายคลึงกับเครื่องดนตรีของประเทศจีนชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า “ฮูฉิน” ซอด้วงประกอบด้วยสาย 2 เส้น ได้แก่ สายเอก กับสายทุ้ม ซึ่งเป็นตัวแทนของเสียงสูงและต่ำ
มีหลักฐานชี้ว่ามันเกิดขึ้นในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้บันทึกเป็นข้อความเอาไว้ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งเป็นบทลงโทษสำหรับผู้ที่เล่นเครื่องดนตรีเสียงดังเข้าไปในเขตพระราชฐาน โดยในข้อความได้ระบุรายชื่อเครื่องดนตรีเอาไว้หนึ่งในนั้นก็ซอ แม้ว่าจะระบุเอาไว้ว่าเป็นซอ แต่ก็ไม่ยังไม่มีความชัดเจนว่ามันเป็นซอประเภทไหนกันแน่ และใช่ซอด้วงหรือไม่
ส่วนประกอบของซอด้วง
1.ทวนซอ มักจะทำมาจากไม้หรืองาช้าง ถ้าเป็นไม้นิยมทำจากไม้เนื้อแข็ง มีโขนที่สอดทะลุกระบอกซอขึ้นมา
2.ลูกบิด ที่หันหน้าไปทางเดียวกับโขน มีอยู่ด้วยกัน 2 ลูก ทำมาจากไม้ทั่วไป
3.กระบอกซอ ในสมัยก่อนนิยมทำด้วยงาช้างหรือไม้ไผ่ ในปัจจุบันนี้งาช้างไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จึงนิยมนำไม้เนื้อแข็งมาทำแทนซึ่งให้คุณภาพเสียงที่ดี หรืออาจจะดีกว่า
4.รัดอก เป็นบ่วงที่รวมสายทั้ง 2 เส้นไว้ด้วยกัน เป็นตำแหน่งที่ผู้เล่นเครื่องดนตรีจะใช้นิ้วกดสาย
5.หย่อง เป็นไม้ชิ้นเล็กๆ ที่เป็นตัวรองรับใต้สายสอทั้ง 2 เส้น เพื่อให้แรงสั่นสะเทือนกระจายไปทั่วกระบอกซอ
6.คันชัก นิยมใช้ไม้ชนิดเดียวกับที่ทำกระบอกซอ กลึงให้โค้งคล้ายกับคันธนู โดยใช้หางม้าผูกเข้าที่ปลายทั้งสองด้าน
7.สายซอ จะทำมาจากเส้นไหมที่มาขนาดไม่เท่ากัน สายเอกจะมีขนาดเล็กกว่าสายทุ้ม ปัจจุบันนิยมใช้เส้นเอ็น หรือสายโลหะ