ดนตรีโปงลางถือว่าเป็นวัฒนธรรมดนตรีพื้นเมืองที่แข็งแกร่งมากในบ้านเรา ดนตรีโปงลางเป็นดนตรีที่เล่นกันทั่วไปแต่ละพื้นที่ เสียงดนตรีโปงลางให้ได้ทั้งความสนุกสนาน และ เพลงแบบอื่นขึ้นอยู่กับลายวิธีการตีของนักดนตรี เชื่อว่าเราคงเคยได้ยินเสียงโปงลางมาบ้าง แต่อาจจะไม่รู้ว่า กว่าจะมาเป็นโปงลางนั้นมันเป็นอย่างไร เราจะมาเล่าให้ฟัง
ต้นกำเนิดของโปงลาง
เดิมทีนั้นโปงลางไม่ได้เป็นดนตรีเลย เป็นเพียงแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ย้อนกลับไปในสมัยท้าวพรหมโคตร ณ ประเทศลาว ท่านนี่แหละเป็นผู้คิดโปงลางขึ้น แต่ตอนนั้นเราเรียกว่า เกราะลอ (และไม่ได้เป็นรูปร่างอย่างทุกวันนี้) เกราะลอในตอนนั้นเป็นเพียงแค่เกราะมีเอาไว้ใช้ในหมู่บ้าน เคาะเพื่อให้เกิดเสียงไล่นก ไล่กา ตอนที่มันบินลงมากินข้าวในไร่ในนา ต่อจากนั้นท้าวพรหมโคตรได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านกลางเหมือง อำเภอเมืองกาศสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตอนนั้นท่านได้ถ่ายทอดวิชาการทำเกราะลอให้กับลูกศิษย์ชื่อว่า นายปาน มาตรงนี้เกราะลอได้มีเริ่มมีการปรับรูปแบบให้เป็น 9 ลูก จากเดิมมีเพียง 6 ลูก นายปานศึกษาเกราะลอมาได้ตามอายุขัย ก็เสียชีวิตลง แต่ก่อนหน้านั้นได้ส่งต่อองค์ความรู้ไปให้กับ นายขาน ผู้เป็นน้องชาย จากนั้น นายขานก็ถ่ายทอดวิชาดังกล่าวอีกที ให้กับนายเปลื้อง ฉายรัศมี
จากเกราะลอ สู่โปงลาง
เมื่อองค์ความรู้เรื่องเกราะลอ ได้ถูกส่งต่อมาถึง นายเปลี้ยง เกราะลอได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดใหม่ จากเดิมที่เอาเกราะลอมาใช้เพื่อเคาะให้เกิดเสียงไล่นกอย่างเดียว มาเป็นเครื่องมือในการพักผ่อนหย่อนใจ กล่าวคือเวลาชาวนาพักผ่อนจากการทำงานมาทั้งวัน ก็ใช้เกราะลอเป็นเครื่องมือเคาะเพื่อให้เกิดเสียง เกิดจังหวะขึ้นมาเพื่อให้สนุกสนาน เพลิดเพลินเวลาพักผ่อน พอทำไปทำมาก็จะเกิดลายดนตรี ลายโปงลางขึ้นมา จนถึงมีการพัฒนาเกราะลอให้กลายเป็นเครื่องดนตรี มีการไล่ระดับเสียงขึ้นมาจนกลายเป็นต้นแบบของโปงลางในที่สุด
การเปลี่ยนวัสดุในการทำ
อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงในประวัติของโปงลางก็คือ การเปลี่ยนเนื้อไม้ที่เอามาใช้ทำโปงลาง เมื่อวัตถุประสงค์การทำเกราะลอเดิมเปลี่ยนไปเป็นการทำเพื่อให้เกิดเสียงดนตรี ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนเนื้อไม้ใหม่เพื่อให้เกิดเสียงตามต้องการ เดิมทีเกราะลอจะเป็นไม้หมากเหลื่อม ก็มาใช้เป็นไม้หมากหาด ไม้ชนิดนี้มีจุดเด่นเรื่องความแข็งของเนื้อไม้ ตีแล้วไม่บวม เสียงก้องกังวานดี จึงเอาไม้นี้มาทำเป็นโปงลาง อีกทั้งได้ปรับจาก 9 ลูก เป็น 12 ลูก เพื่อให้เกิดเสียงที่ไพเราะมากขึ้น แล้วก็พัฒนาอีกครั้งเป็น 13 ลูก พอได้เสียงดี ไพเราะก็มาพัฒนาเรื่องลายการตีให้มีความหลากหลายขึ้นมีทั้งหมด 5 ลายทั้ง 5 ลายนี้กลายเป็นพื้นฐานของมือตีโปงลางในเวลาต่อมา เมื่อทุกอย่างดีลงตัว จึงได้เปลี่ยนชื่อจากเกราะลอ มาเป็นโปงลางจนถึงปัจจุบัน
โปงลาง สู่ วงโปงลาง
หากใครเคยดูการแสดงโปงลาง เค้าไม่ได้มีการแสดงแต่โปงลางอย่างเดียว ยังมีการนำเครื่องดนตรีอื่นมาประกอบจนกลายเป็นวงโปงลาง (คล้ายกับวงดนตรีคลาสสิคฝั่งตะวันตก) ต้นกำเนิดแนวคิดนี้ ต้องย้อนกลับไปช่วง พ.ศ. 2505 นายเปลื้อง ที่สนใจและพัฒนาโปงลางอยู่ เห็นการเล่นเดี่ยวโปงลางมาตลอดจึงมีแนวคิดพัฒนาต่อยอดด้วยการนำเครื่องดนตรีอื่นมาเล่นร่วมกันเพื่อสร้างความหลากหลายทางด้านดนตรี จึงไปชวนเพื่อนนักดนตรีด้วยกัน เอาเครื่องดนตรีมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็น ซอ พิณ แคน หมากกั๊บแก้บ ไห มาร่วมกันบรรเลง หลังจากใช้เวลาซักซ้อมช่วงเวลาหนึ่ง ทุกอย่างก็ลงตัวจนกลายเป็นการแสดงวงโปงลางอย่างที่เห็น ไม่เพียงเท่านั้น นายเปลื้อง ยังพัฒนาต่อยอดไปอีกด้วยการเพิ่มการแสดงรำเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็น รำโปงลาง รำซวยมือ รำภูไท จนทำให้กลายเป็นมาตรฐานวงดนตรีโปงลางมาจนถึงทุกวันนี้